วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

“อิสรภาพ” ปัจจัยจูงใจคนทำงานรุ่นใหม่นอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการ


       ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังประสบปัญหาในการรักษาคนเก่งๆให้อยู่กับองค์กรเนื่องจาก คนทำงานรุ่นใหม่เขาไม่ต้องการแค่เงินเดือน สวัสดิการและตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แต่เขาต้องการอิสรภาพที่เร็วกว่าและมากกว่าที่องค์กรมีให้ และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ มีธุรกิจขายตรง ขายหลายชั้น รู้ว่าจุดอ่อนของคนทำงานรุ่นใหม่คือการแสวงหาอิสรภาพ เขาก็นำจุดนี้มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดคนเก่งๆที่ทำงานอยู่ในองค์กรออกไปทำอาชีพอิสระที่ไม่ต้องลงทุน แต่มีไฟก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ตอนนี้คนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนแมงเม่าที่กำลังบินเข้ากองไฟ  เพราะตกหลุมพรางของสิ่งล่อใจคือ “อิสรภาพของความสำเร็จ” ที่บอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แม่บ้าน นักศึกษา คนทำงาน ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าดีกว่ามากกว่าอย่างแน่นอน  พร้อมยกตัวอย่างคนประเภทต่างๆที่เข้ามาแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้องค์กรต่างๆประสบปัญหาคนเก่งๆกำลังถูกดูดออกจากองค์กรไปยังธุรกิจที่มักจะบอกว่า “อิสระ” ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว อิสระแค่เพียงเวลาและสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่อิสระเทียมนั้นถูกผูกล๊อคด้วยเงื่อนไขต่างๆอีกมากมายที่ดูเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการบังคับ แต่ถ้าไม่ทำตามที่เขากำหนดคุณก็อยู่ในธุรกิจนั้นไม่ได้ หรืออยู่ได้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายคำว่าทำงานอิสระนั้นเป็นแค่คำโฆษณาที่สวยหรูเท่านั้น


       ดังนั้น คงจะถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆควรจะให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือกับการบริหารคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องการอิสรภาพในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น จึงขอแนะนำแนวทางในการรับมือกับการบริหารคนบนพื้นฐานของอิสรภาพส่วนบุคคลดังนี้
เลือกสภาพการจ้างได้

       “ไม้บรรทัดไม่สามารถใช้แทนมาตรวัดทุกประเภท(เช่น ปริมาตรน้ำ ความดัน ฯลฯ) ได้ฉันใด สภาพการจ้างแบบเดียวก็ไม่เหมาะสมกับการจ้างคนทุกคนได้ฉันนั้น” 

       ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าสภาพการจ้างแบบเดียวกัน ไม่สามารถจูงใจคนทำงานทุกสาขาอาชีพหรือคนทุกคนได้ ดังนั้น องค์กรที่ควรจะเริ่มมีสัญญาจ้างหรือเงื่อนไขในการจ้างที่มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับยังเหมือนเดิมแต่ปลดล๊อคเงื่อนไขบางอย่างให้เหมาะสมกับคนทำงานที่หลากหลายประเภท หลากหลายความต้องการ เช่น สามารถเลือกเวลาทำงานได้ เลือกสถานที่ เลือกลักษณะงานที่ทำ เลือกเงินเดือน เลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น

เลือกงานที่จะทำเองได้
       คนสมัยก่อนจบการศึกษาด้านไหนมาก็มักจะเลือกทำงานตรงกับที่ร่ำเรียนมาและมักจะไม่ค่อยเปลี่ยนสายงาน แต่คนรุ่นใหม่หลายคนอยากทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา เพราะตอนเรียนยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร แต่พอเรียนจบถึงรู้ว่าชอบงานอีกแบบหนึ่ง ดังนั้น องค์กรไม่ควรกำหนดสเปคในการรับคนเข้าทำงานที่แคบเกินไป ถ้าตำแหน่งงานนั้นไม่ใช่ตำแหน่งงานที่ต้องใช้วิชาชีพ ควรเปิดโอกาสให้คนบางคนที่มีความอยาก(ทำงาน)สูงแต่ไม่ได้จบสาขานั้นๆมา และคนรุ่นใหม่มักจะมีการเปลี่ยนความต้องการของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

       ดังนั้น เวลารับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในองค์กรในสายงานหรือตำแหน่งงานใดแล้ว ต้องมีระบบในการตรวจสอบว่าเขายังมีความสุขอยู่กับตำแหน่งงานเดิมหรือไม่ หรือเขาต้องการจะเปลี่ยนไปทำงานในตำแหน่งอื่น เพราะบางคนเข้ามาทำงานสักสองสามปีก็พบว่า “ไม่ใช่” เขาน่าจะเหมาะกับงานอื่นในองค์กรมากกว่าและรู้สึกอยากทำมากกว่า องค์กรควรเปิดโอกาสให้คนในองค์กรเลือกงานที่จะทำได้ แต่ถ้าไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในการเลือกและเปลี่ยนงานภายในองค์กรก็อาจจะกำหนดกฎกติกาขึ้นมารองรับก็ได้ เช่น ใครต้องการทำงานตำแหน่งอื่นให้ทำเรื่องเสนอได้ปีละหนึ่งครั้งพร้อมระบุเหตุผลที่ต้องการจะทำ และเหตุผลที่จะทำให้องค์กรมั่นใจได้ว่าสามารถทำตำแหน่งงานนั้นๆได้ และทางผู้บริหารจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป

เลือกเส้นทางสู่ความสำเร็จได้
       แต่ก่อนองค์กรเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเติบโตไปยังตำแหน่งไหน เมื่อไหร่ แต่การบริหารคนรุ่นใหม่ให้เขาเป็นผู้กำหนดด้วยตัวเขาเองว่าอีก 3-5 ปี ถ้าเขาทำงานอยู่กับเรา เขาต้องการเติบโตไปยังระดับไหน ตำแหน่งไหน และเขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ โดยองค์กรมีหน้าที่ให้ข้อมูล สนับสนุนการพัฒนาตนเองของคนทำงานรุ่นใหม่ และกำหนดเงื่อนไขในการเลื่อนตำแหน่งที่เป็นไปได้ และได้ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรกับคนทำงาน

เลือกสถานะความสัมพันธ์กับองค์กรได้
       คนทำงานรุ่นก่อนมีสถานะให้เลือกอยู่เพียงไม่กี่สถานะ เช่น เป็นพนักงานประจำ เป็นพนักงานชั่วคราว เป็นพนักงานสัญญารายปี แต่คนรุ่นใหม่ต้องการทางเลือกที่มากกว่าและยืดหยุ่นกว่าคนทำงานรุ่นเก่า เช่น สามารถเลือกได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาจะมีความสัมพันธ์กับองค์กรแบบไหน เช่น เลือกที่เป็นลูกจ้างประจำ เลือกได้ว่าจะทำงานกินค่าคอมมิชชั่นอย่างเดียว เลือกที่จะเป็นพนักงานชั่วคราว(Part-Time) เลือกรับทำงานเป็นชิ้นๆจากองค์กร เลือกเป็นผู้รับจ้าง (Outsource) เลือกที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Partner) เลือกที่จะเป็นที่ปรึกษา (Advisor) และอาจจะเลือกได้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับองค์กรในสถานะนั้นๆนานแค่ไหน และสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะจากรูปแบบหนึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการลาออกของคนเก่งๆ และเพื่อป้องกันต้นทุนแรงงานขององค์กรสูงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะไม่ว่าองค์กรจะจ้างเขารูปแบบไหน สิ่งที่เป็นเงื่อนไขหลักๆคือ “ผลงาน” ที่คุ้มค่า ส่วนคนทำงานคือ “อิสระ” ที่เลือกทำงานได้ตามความต้องการของชีวิตแต่ละช่วงเวลา

       สรุป การบริหารคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องยากหากองค์กรเข้าใจธรรมชาติของเขา นำเอาสิ่งที่เขาเป็นมากำหนดเป็นกลยุทธ์ในการบริหารให้เหมาะสม โดยยึดความสมดุลระหว่าง “ผลประโยชน์ขององค์กร” กับ “ความต้องการของคนทำงาน” ซึ่งนอกจากผลตอบแทนที่คุ้มค่า ความก้าวหน้าที่เลือกได้แล้ว คนรุ่นใหม่มีความต้องการเรื่อง “อิสรภาพในชีวิต” เพิ่มมากขึ้นด้วย

       ดังนั้นองค์กรไหนต้องการบริหารคนรุ่นใหม่ให้ได้ทั้งใจและผลงาน คงต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารคนตั้งแต่เริ่มจ้างคนจนถึงการพ้นสภาพไปจากองค์กรเสียใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าองค์กรไหนปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีกว่าและเร็วกว่า น่าจะสร้างความได้เปรียบในการบริหารคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้ดีกว่าอย่างแน่นอน


แนะนำโดย : คุณทิพจุฑา ดุเหว่า
ที่มา : คุณณรงค์วิทย์ แสนทอง

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

คุณสูญเสีย "ความเป็นตัวเอง" เพราะงานหรือเงิน .. ไปแล้วหรือยัง?

       สวัสดีเดือนเมษายน เดือนแห่งความร้อนแรง อุ่ย!! ใจคนอย่าเผลอร้อนไปด้วยนะคะ วันนี้ไอหมอกมีเรื่องราวแนวคิดดีดีจากเพื่อนคนหนึ่ง เราอาจมองว่าเค้าอาร์ตๆ นิดนิด อินดี้หน่อยหน่อย แต่พอพูดถึงแนวคิด อั้ยย่ะ .. ใช่ย่อย ลองมาดูกันค่ะ ว่าเพื่อนไอหมอกคนนี้ เค้าแชร์อะให้ให้เรากันบ้าง

       ข้อมูลส่วนตัวของผม "วีรยุทธ เตจ๊ะ - หนุ่ม" ปัจจุบันทำงานตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ ผมทำงานที่ผมรักมาถ้านับตอนนี้ก็ประมาณ 2 ปี กับ 26 วัน"

       เคยที่ท้อแท้ใจไม่อยากที่จะทำงานกันมั้ยครับ? ... ช่วงก่อนนี้ผมรู้สึกไม่ค่อยอยากจะทำงานสักเท่าไหร่ ทั้งที่ว่า เมื่อก่อนนี้ ผมคิดว่า ผมกับการเขียนโปรแกรมนั้น เป็นเหมือนกับคู่แท้ที่แยกจากกันไม่ออก แต่มาตอนหลังนี้ ผมรู้สึกท้อแท้ใจ และรู้สึกลำบากใจที่จะต้องเขียนโปรแกรม ... ทุกครั้งที่ผมเห็นโปรเจ็คใหญ่ๆ ผมได้แต่คิดว่า “อืม ... มันก็ดีนะ ... แต่ เมื่อไหร่จะเสร็จ แล้วต้องใช้อะไรบ้าง? ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่ต้องการล่ะ? “ สารพัดปัญหาที่ผมจะสรรหามาใช้เพื่อ เรื่องเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการเขียนโปรแกรม คือไม่เอาแล้ว ไม่อยากไปทำแล้ว ... มันเป็นเพราะอะไรกัน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ราวๆ 7 – 8 ปี ผมคลั่งไคล้มันมาก ?


       ผมย้อนกลับมาคิดว่ามันเป็นเพราะอะไรกัน ที่ทำให้ผมไม่อยากเขียนโปรแกรม ไม่อยากทำในสิ่งที่ผมเคยชอบ ผมคิดอยู่นาน เป็นเดือน แล้วสุดท้ายผมก็คิดออก ... อันดับแรกคือ

       “ผมเปลี่ยนจากความชอบเขียนโปรแกรมที่มีอยู่เป็น Passion ไปเป็นการทำเพื่อเงิน”

       บ้านผมจนครับ การจะมาเรียนปริญญาตรีของผมนี่ค่อนข้างลำบาก ผมพยายามงัดข้อกับทางบ้านอยู่นาน เพราะมาเรียนมันใช้ทุนสูง แต่ผมก็กระเสือกกระสนมาเรียนปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จนได้ เพราะความชอบแบบสุดๆ ชอบมาก่อนหน้านี้แล้ว ชอบมาก่อนที่จะรู้ว่า คนที่มาสายนี้ต้องเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ วิศกรรมคอมพิวเตอร์ ผมเรียนช่างยนต์มาก่อนหน้านี้ครับ พกหนังสือช่างไปเรียนวันละเล่ม นอกนั้นอีกสามเล่ม เป็นหนังสือพวกทำเว็บ เขียนโปรแกรม แต่เนื่องด้วยความที่อดอยากอดกลั้น เข้ามาเรียนด้วยความลำบาก ผมเลยคิดว่า ถ้าผมจะหารายได้พิเศษ ผมจะต้องหามาจากความรู้ที่มี ผมก็ไล่หางาน โดยหวังว่าจะเริ่มจากการเป็นฟรีแลนซ์ในสมัยเรียน ... ทั้งทีไม่มีคอนเน็คชั่นใดๆเลยไม่มีงานเข้ามาเลยครับ ... แต่สวรรค์ก็ไม่ได้ใจร้าย ในอีกประมาณปีครึ่ง ผมหางานไปเรื่อยๆจนมีคนให้โอกาสผม ให้ผมทำเว็บไซต์ E-Commerce

       งานนี้เป็นงานแรก และผมได้เงินมาประมาณ 12,000 บาท ... ผมก็ตาโตสิครับ ไม่เคยได้เงินเยอะขนาดนี้มาก่อน เอาแค่ว่าพ่อแม่ให้เงินมาวันละร้อยนี่ ผมก็ว่าเยอะแล้ว ผมก็กระหยิ่มใจ ไล่หางานฟรีแลนซ์ทำอีกเรื่อยๆ

       และตรงจุดนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนครับ ผมทำทุกอย่างเพื่อเงิน โปรเจคเล็ก โปรเจคใหญ่ ผมไล่เก็บมันให้หมด และตั้งแต่วันนั้นมา ชีวิตผมก็เริ่มหมดความสุขจากการเขียนโปรแกรมไปทีละนิด ... ผมคิดแต่เพียงว่ามันเป็นแค่เครื่องมือสำหรับหาเงินเท่านั้น ผมยิ่งเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ในเรื่องที่คิดว่าจะหาเงินได้ และทำงานอย่างบ้าคลั่ง แต่ไม่เคยมีความสุขเลย ... เพราะทุกสิ่งที่ผมทำ ผมพัฒนาตัวเอง ... “ผมทำไปเพื่อคนอื่น”

       ผมขายวิญญาณไปให้คนอื่น ผมสูญเสียความเป็นตัวเองไป ผมเป็นแค่โปรแกรมเมอร์ที่ทำตามคำสั่งของคนอื่น เขาให้ทำอะไร ยอมทำ แม้ว่าจะมีวิธีที่ดีกว่า หรือเทคโนโลยีที่ดีกว่า ผมก็ไม่เอา ผมเลือกที่จะทำเพื่อเงินเท่านั้น ... มีชีวิตไปวันๆ เพื่อหาเงิน ... แต่ผมก็ไม่เคยไปไหนได้ไกล และ ผมก็เริ่มหมดความสุขในชีวิตการเขียนโปรแกรมตั้งแต่นั้นมา

     จากการที่เคยพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว เพราะแรงผลักดันข้างในใจของตน กลายเป็นเหมือนโปรแกรมเมอร์ที่เป็นหุ่นยนต์ พอผมคิดได้ เหมือนผมตื่นจากฝันเลยทีเดียว มันเหมือนผมตื่นมาใหม่ ผมเริ่มปรับความคิดใหม่ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสอีกครั้ง

       เมื่อผมได้จับโปรเจคอะไรสักอันหนึ่ง ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ ผมจะคิดแค่ว่า “โอเค เรารับผิดชอบทำในส่วนนี้ เราทำให้จบ รับเงิน แค่นี้พอ” ผมเปลี่ยนความคิดใหม่ “โอเค เรารับผิดชอบตรงส่วนนี้ มันน่าจะเป็นแบบนี้ อืม ... มันน่าจะมีระบบแบบนี้ เพื่ออำนวยสะดวกแบบนี้” ผมเริ่มคิดใหม่ เหมือนกับเป็นเจ้าของโปรเจค เหมือนโปรเจคนั้นมันเป็นของผมเอง ลองคิดดูสิครับ ว่าถ้ามันเป็นของเรา ไม่ใช่แค่ “งานของเรา” เราจะรู้สึกยังไง?

       ผมพร้อมที่จะทำทันที และสรรหาทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเนรมิต ให้งานมันออกมาดีที่สุด ไม่ใช่แค่งานตรงส่วนนั้น ... แต่เป็นทุกภาคส่วนของโปรเจคนั้นๆ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นของเราจริงๆ

       ดังนั้น เรื่องการทำเพื่อเงิน สำหรับผม อันนี้จบไปแล้วครับ กลายเป็นว่า ทำเพราะเรารู้สึกรัก และห่วง เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นโปรเจคของเรา ไม่ใช่แค่งาน

       ความคิดต่อไปคือ ถ้าเมื่อก่อนจะคิดว่า “เราจะทำให้เค้าเยอะทำไม ทำเท่าที่สั่งก็พอ ทำไปเราก็ไม่ได้รวยหรอก คนสั่งนู่น ที่รวยเอารวยเอา โปรเจคก็ใช่ว่าจะเป็นของเรา ฉะนั้น ทำแค่ที่สั่งก็พอ”

       อันนี้ผมเปลี่ยนความคิดใหม่ครับ ผมย้อนกลับไปคิดถึงสมัยก่อน งานหลายๆงานผมก็ไม่ใช่ว่าจะได้เงิน เช่น บางทีผมก็ช่วยเพื่อนเขียนโปรแกรมที่มันยากๆ เพราะหวังจะเรียนรู้จริงๆ ... งานของตัวเองไม่ใช่ นั่งคิด นอนคิดตั้งสามวัน ... พอคิดออก ลุกออกจากเตียง เปิดไฟ มานั่งเขียนโปรแกรม ตามไอเดียที่เพิ่งผุดขึ้นมา ... หรือบางที ผมก็ไปนั่งเรียนวิชาโปรแกรมมิ่ง ของอีกห้องหนึ่ง ฟรีๆ นอกเวลาเรียนของตนเอง โดยที่ไม่ได้คิดอะไร หวังแค่ว่า อยากเขียนโปรแกรมได้ อยากเขียนโปรแกรมดี แค่นั้นเอง สมัยนั้นผมทำหลายๆอย่างที่ไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรงเป็นตัวเงิน แต่ผมก็มีความสุขดี

       ฉะนั้น ผมจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่า ในการทำงานทุกๆงาน ไม่ใช่แค่งานเขียนโปรแกรม ทุกๆงานนั้นคือการเรียนรู้ แน่นอน เจ้าของโปรเจคได้เงินอยู่แล้ว แต่นั่นก็เพราะเขามีทุน ตอนนี้เราก็เรียนรู้จากการทำธุรกิจของเขาสิ เราก็ดู ว่าเขาจะมีวิธีหาช่องทางทำเงินยังไง อะไรคือปัญหาของเขาในการทำธุรกิจ ความรู้เราก็ได้ ทักษะเราก็คมขึ้น เพราะเราได้งานที่ยากๆ เงินค่าจ้างก็ได้ เหมือนกับเรามาฝึกงาน แล้วได้เงินด้วย ฉะนั้น ยังไงเราก็กำไรอยู่แล้ว ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งเงิน ... พอเปลี่ยนไปคิดแนวบวก มันก็ได้ผลบวกไปด้วย

       เมื่อความคิดมันเป็นไปในด้านบวก จะทำอะไรมันก็ได้ผลดี ... ขนาดปัญหาที่คนทั่วไปมองว่าน่าเบื่อ เราก็ดันมองเห็นเป็นข้อดี ... ทีนี้ พอทำงานก็มีความสุขครับ ... ยิ่งมีความสุข มันก็อยากจะทำอีกเยอะๆ เพราะว่าจะได้เรียนรู้ ได้ความภาคภูมิใจ ได้เงินมาใช้อีกต่างหาก

       มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “Do What You Love The Money Will Follow” หรือแปลได้ว่า “ทำในสิ่งที่คุณรักแล้วเดี๋ยวเงินมันจะตามมาเอง” ชื่อเรื่องตรงตัวครับ ถ้าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก มีโอกาสที่จะเลิกทำสูง พอเลิกทำ ก็ไม่ได้เงินอีก มีเพื่อนหลายๆคนที่รู้จักกันกลับมาพบกันอีกที เล่าความอึดอัดใจว่า “เลิกเป็นดีกว่าโปรแกรมเมอร์ เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ในไทย อยู่ไปก็ไม่รวย ทำงานก็เยอะ ดันถูกกดราคาอีก นี่ไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า!!! ” ก็จริงครับ สภาวะงานของโปรแกรมเมอร์ในไทยนี่ค่อนข้างลำบากครับ เนื่องจาก ช่วงหลังมานี้ ค่านิยมของการเรียนสายไอทีมีมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่เติบโตเร็วมากๆ เด็กไทยในยุคปัจจุบัน จึงเลือกเรียกสายไอที ด้วยแนวคิดที่ว่า เรียกสนุก สอบสบาย หางานก็ง่าย เงินก็ดี ... ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใครไปบอกเด็กนะครับ ว่างานมันสบายจริงหรือเปล่า เด็กที่เข้ามาหลายคนก็ติดเกมมาก่อน และคิดว่า ไหนๆก็คลุกคลีอยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ดังนั้น เรียนสายไอทีนี่ ง่ายสบาย เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

       แต่พอเข้ามาเรียนจริงทุกอย่างกลับเป็นคนละเรื่อง ราวกับฟ้ากับเหว วิชาทฤษฎีมีราวๆ 80% อีก 20% เป็นวิชาปฏิบัติ ซึ่ง เวลาเรียนจำกัดจำเขี่ยเอามากๆ ถ้าหวังเรียนเอาตามหลักสูตรแล้วหวังว่าจะเก่งคงเป็นไปได้ยาก อันนี้ต้องโทษหลักสูตรบ้านเราด้วยครับ ที่เรียนอย่างละนิดหน่อย ไม่ได้ลงลึก จะมีก็แต่คนที่ชอบจริงๆเท่านั้น ที่จะหมกมุ่นอยู่กับคอมพิวเตอร์ได้ทั้งวัน สังเกตได้ว่าหลายคนที่เรียน จะบ่นว่าต้องไปสอบอีกแล้ว อ่านแล้วไม่เข้าใจ เรียนแล้วไม่มีความสุข  เด็กไม่รู้ เพราะคิดว่ามันจะสนุก คิดอย่างเดียวว่า ต้องเรียนให้รอด เพราะสายนี้ยังไงก็หางานง่าย แต่ปรากฏว่า พอจบออกมา ต้องมาแข่งขันกับคนหางานสายไอทีทั่วทั้งประเทศไทย ที่กำลังหางานเหมือนกัน คนเก่าปีนี้ยังหางานไม่ได้ คนปีหน้าก็จะตามมาแย่งงานกันอีก

       สุดท้ายงานสายไอทีในไทย ก็วนเวียนเป็นวัฏจักร  เด็กหาสาขาเรียน เลือกเรียนไอที เพราะคิดว่าหางานสบาย เงินเยอะ แต่ไม่ได้ชอบจริงๆ เลือกเพราะเห็นว่าเงินเยอะ หางานง่ายอย่างเดียว (เพราะได้ยินมา) พอมาเรียนไม่มีความสุข .. เลยไม่ตั้งใจเรียน เรียนเอาแค่พอผ่าน ... จบมา หางานยากมาก เพราะไม่เคยได้ฝึกฝนมา เรียนเอาตามหลักสูตรมา เพราะคิดว่ายังไงมันก็หางานง่าย ... ทีนี้พอได้งานมา ก็ไม่มีความสุขอีก เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

       จะเห็นได้เลยว่า การที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับตนเองมากเกินไป ทำให้สูญเสียตนเอง หรือแม้กระทั่ง เลือกเส้นทางให้กับชีวิตของตนเองผิดไป โดยลืมไปว่า “จริงๆแล้วเราชอบอะไรกันแน่?” อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข ถ้าเราทำในสิ่งที่มีความสุข ชีวิตก็มีสุข พอมีความสุข ก็จะทำงานได้เยอะ ยิ่งทำเยอะ ก็จะมีความรู้ความชำนาญเยอะ พอมีความชำนาญเยอะก็จะมองหาโอกาสในชีวิตได้มากกว่าคนอื่น และเงินมันก็จะไหลมา เทมาเองครับ

       ก่อนปิดท้าย ลองสังเกตว่า ทำไมโปรแกรมเมอร์ต่างประเทศถึงมีค่าจ้างสูง เป็นเพราะเขาเหล่านั้นเก่งชนิดที่ว่าตามไม่ติดเลยอย่างนั้นเลยหรือ ... จริงๆแล้วต่างประเทศก็ยังขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ดีๆนะครับ ที่อยู่รอดมาได้และมีค่าจ้างสูงๆ คนเหล่านั้นเป็นคนที่หลงรักในสิ่งที่เขาทำจริงๆ และ เขาไม่ได้ทำเพื่อเงินแต่เพียงอย่างเดียว ทุกๆวันเขาอุทิศให้การเขียนโปรแกรม เขียนโปรแกรมทื่ทำงานแล้ว กลับมายังนั่งเขียน Open Source ร่วมกับนักพัฒนาคนอื่นๆ ทั้งๆที่ไม่ได้เงินอะไรเลย

       แต่นั่น ทำให้เขามีราคา เพราะบริษัทต่างๆคิดว่า คนเหล่านั้น สามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัทได้อีกมากมาย ซึ่งการที่จะหาคนอื่นมาแทนที่คงทำได้ยาก เพราะองค์ความรู้ที่สะสมมามากมาขนาดนั้นไม่ใช่ปลูกฝังแค่ปีสองปี และนั่น ก็ทำให้โลกเทคโนโลยีของต่างประเทศเจริญเฟื่องฟู... ลองย้อนกลับมามองบ้านเรา จะมีโปรแกรมเมอร์สักกี่คนที่เลือกใช้เวลาของตนเองเพื่อสร้างสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไอที นอกจากใช้เวลาของตนเองทำงานพิเศษ เล็กๆน้อยๆ สุดท้ายก็เหนื่อย เบื่อ และหันไปหาหนทางอื่น

       จงทำในสิ่งที่รักให้ได้ก่อนครับ แล้วเงินทองชื่อเสียงมันจะตามมา ... และถ้าทำในสิ่งที่รักไม่ได้ ก็จงรักในสิ่งที่ทำ มีความสุขกับทุกสิ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และชีวิตของเราก็จะสวยงามที่สุดครับ


บทความโดย : คุณวีรยุทธ เตจ๊ะ และ Softbankthai