วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การบริหารความกดดันทางธุรกิจ

       ตอนที่แล้ว "เปลี่ยนมุมมองธุรกิจ สไตล์ Gen Y" เราได้พูดถึง ความคิดของ Peter Sheahan น่าสนใจเพราะเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการคิด การพูด และการเขียนจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “A next generation thinker.” นักคิดของคนยุคต่อไป วันนี้เรามาดูกันต่อว่า เมื่อเกิดความกดดันขึ้นกับธุรกิจของเรา เราจะทำยังไงต่อไปดี



       แล้วเราจะต้องทำอย่างไร เมื่อมีความกดดันเหล่านี้เกิดขึ้นกับธุรกิจของเรา Peter Sheahan แนะนำว่าควรทำสิ่งต่อไปนี้

       •      สำรวจด้วยตนเองว่ามีสิ่งใดบ้างที่เป็นความกดดันต่อตัวคุณและธุรกิจของคุณ เกี่ยวกับเรื่องเวลาและสถานที่ (Time and space) ให้เขียนรายการสิ่งที่เป็นความกดดันออกมาเป็นข้อๆ เพื่อนำไปศึกษาหาแนวทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อไป

       •      ให้คิดถึงความซับซ้อน (Complexity) ที่โยงใยและมีผลกระทบมาถึงตัวคุณและธุรกิจของคุณ แต่สิ่งสำคัญที่คุณต้องพิจารณาคือ ความซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นจะมีผลกระทบอะไรต่อลูกค้าของคุณบ้าง และคุณมียุทธศาสตร์อะไรในการลดความซับซ้อนนั้นลงในกระบวนการทำธุรกิจของคุณ ทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆในธุรกิจของคุณมีความง่าย(Simplifying)มากขึ้น

       •      จัดทีมงานรับผิดชอบในการศึกษาเพื่อขจัดความล่าช้าในขั้นตอนต่างๆของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรธุรกิจของคุณ และขั้นตอนการติดต่อสื่อสารภายนอกองค์กรกับลูกค้าและตลาดธุรกิจของคุณ

       •      ถามตนเองว่าเราจะเพิ่มมูลค่าอะไรให้ลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งในรูปสินค้าและบริการ

       นำเอาสิ่งที่เราคิดสำรวจได้ข้างต้น เข้าสู่การระดมสมองของคณะผู้บริหารเพื่อหาหนทางปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความกดดันที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจของเรา

       การทำธุรกิจในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะธุรกิจเท่านั้น แต่ธุรกิจเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย แนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมคือ ธุรกิจคือธุรกิจ (Business is business) คงไม่เพียงพอแล้วครับ ธุรกิจในยุคนี้ต้องรวมเรื่องส่วนบุคคล(Business is personal) เข้ามาด้วย เพราะผู้บริโภค หรือ ผู้ซื้อในปัจจุบัน ไม่ได้ต้องการซื้อเฉพาะสินค้า หรือบริการที่ขายเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าสินค้าหรือบริการที่เขาซื้อคือ เขาต้องการทำธุรกิจที่เขาพึงพอใจจากคนที่เขารู้จัก (People they know) คนที่เขาชอบ (People they like) และคนที่เขาไว้ใจ (People they trust) เพราะปัจจุบันช่องทางการทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทั้งจากการเผยแพร่ให้ความรู้ของหน่วยงานทางราชการที่กฎหมายกำหนดให้กระทำ หรือจากคู่แข่งขันของเราที่เต็มใจกระทำให้ข้อมูลเพื่อแนะนำสินค้าและบริการของเขา ซึ่งผู้บริโภคและผู้ซื้อสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสินค้าและบริการของเราได้ และจากผู้บริโภคและผู้ซื้อเองที่ตั้งใจกระทำ โดยเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลสินค้าและบริการของเราให้แก่คนอื่นๆทราบ ดังนั้นกระบวนทัศน์หรือมุมมองในการมองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคจึงต้องเปลี่ยนไป เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “People don’t buy products or services, they buy what those products or services do.” คนไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการ คนซื้อสิ่งที่สินค้าหรือบริการทำให้เขา

       Flint McLaughlin กล่าวว่า “People don’t want to be marketed to, they want to be communicated with” คนไม่อยากถูกทำการตลาดกับ แต่อยากถูกติดต่อสื่อสารด้วย

เปลี่ยนมุมมองธุรกิจ สไตล์ Gen Y


       สวัสดีเพื่อนๆชาวไอหมอกอีกครั้งค่ะ วันนี้ไอหมอกขอนำเอาข้อคิดดีดีเกี่ยวกับมุมมองของการทำธุรกิจจากหนังสือ "Flip" ของ Peter Sheahan ผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ChangeLabs มาฝากเพื่อนๆกัน เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆทางด้านธุรกิจ และไอหมอกเชื่อว่าบทความนี้จะสามารถทำให้หลายๆท่านต่อยอดธุรกิจได้อย่างดีเลยทีเดียวค่ะ ^^


       “Trust in the LORD with all your heart. Never rely on what you think you know. Remember the LORD in everything you do, and he will show you the right way. Never let yourself think that you are wiser than you are; simply obey the LORD and refuse to do wrong.”                                                                                 Proverbs 3:5-7

       การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีมุมมองใหม่ของยุทธศาสตร์ การดำเนินการ ลูกค้า และบุคลากร “Business today requires new perspectives on strategy, operations, customers and staff.” เป็นประโยคเปิดนำในหนังสือชื่อ Flip เขียนโดย Peter Sheahan ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ChangeLabs บริษัทที่ปรึกษาระดับนานาชาติที่มีลูกค้าเป็นบริษัทชั้นนำเช่น Google, Goldman Sachs, Sony, Hilton Hotels, Harley Davidson, GlaxoSmithKline, Cisco และ Pizza Hut เป็นต้น

       ความคิดของ Peter Sheahan น่าสนใจเพราะเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการคิด การพูด และการเขียนจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “A next generation thinker.” นักคิดของคนยุคต่อไป เขาเป็นนักพูดในเวทีสัมมนาทั่วโลก และมีงานเขียนที่โด่งดังคือหนังสือชื่อ “Generation Y”, “Making It Happen” และ “Flip”

       ในหนังสือชื่อ Flip ของเขา Peter Sheahan ให้ความเห็นว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถจะหยุดนิ่งอยู่กับความคิดและความเคยชินเก่าๆอีกต่อไปได้แล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดของเราในการทำธุรกิจให้ทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่บีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลามาจาก 4 แรงขับดันคือ

       1.   Increasing compression of time and space
              เพราะมนุษย์มีความอดทนต่ำและนับวันจะมีความอดทนต่ำลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่สามารถจะหยุดรอคอยอะไรได้อีก ยิ่งในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้เกิดความรวดเร็วได้ในบัดดล เรายิ่งมีความคาดหวังให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ความกดดันเรื่องเวลาจึงเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จตัวหนึ่งในสนามแข่งขันธุรกิจ ในอดีตเราอาจจะคิดว่าการทำมากขึ้นด้วยเวลาที่น้อยลง (Doing more with less) คือความมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ปัจจุบันความคิดแค่นี้คงไม่เพียงพอแล้ว ต้องเพิ่มความรวดเร็วเข้าไปเป็น “doing more with less, faster” เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนประเทศทางภูมิศาสตร์อย่างในอดีตอีกแล้ว การค้าเสรี การเงินเสรี การตลาดเสรี ทำให้การเคลื่อนย้ายคน สินค้า และเงินลงทุนเสรีมากขึ้นตามไปด้วย ระยะทางไกลกลายเป็นใกล้เพราะการสื่อสารของโลกรวดเร็ว ย่นระยะเวลาการติดต่อ ทำให้โลกในการติดต่อธุรกิจเล็กลง (The world is getting smaller) แต่ในเวลาเดียวกันการที่เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้จำนวนมากขึ้นโดยใช้เวลาเพียงชั่วอึดใจเดียวทำให้โลกในการทำธุรกิจของเราใหญ่ขึ้น (The world is getting bigger) ความกดดันนี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดในการทำธุรกิจใหม่ เพื่อสามารถตอบรับกับความคาดหวังของคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

       2.  Increasing complexity
              เพราะโลกธุรกิจที่เล็กลงและโตขึ้นในเวลาเดียวกันทำให้เรามีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นในการทำธุรกิจ เครือข่ายการติดต่อที่โยงใยกันทั้งโลก ทำให้มีทั้งผู้ขายและผู้ซื้อใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีสินค้าใหม่เข้ามาแข่งกับสินค้าเก่า มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม มีความคิดใหม่ ทางเลือกใหม่ กระแสใหม่เกิดขึ้นและลุกลามแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการในการบริหารจัดการความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความคิดในการทำธุรกิจแบบปกติเหมือนอย่างเคยทำ(Doing business as usual) ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว

       3.  Increasing transparency and accountability
              เพราะทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีที่สำหรับความลับส่วนตัวกันแล้ว แมลงวันหนึ่งตัวตกในชามบะหมี่มีคนรู้ได้เป็นร้อยเป็นพันคนทันทีที่ถูก Post จากมือถือเข้า line เข้า Facebook เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดสังคม online ที่สามารถแพร่หลายกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ความโปร่งใส และความเชื่อถือได้จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะสังคมได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการตัดสินใจยอมรับสินค้าหรือบริการ จากความไว้วางใจ (Trust) ในตัวผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการ ความรับผิดชอบต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ความซื่อสัตย์ยุติธรรมในเรื่องราคา สิทธิการรับรู้ของผู้บริโภค ความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลก เสรีภาพและ สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และ จรรยาบรรณ เป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังและเอามารวมกับการทำธุรกิจ สินค้าที่แอบเอาเนื้อม้า มาผสมกับเนื้อวัว แล้วหลอกขายเป็นเนื้อวัว สังคมและผู้บริโภคไม่ยอมรับและกดดันให้เก็บออกไปจากตลาดทันที เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงน้ำหนักความกดดันเรื่องความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ

       4.    Increasing expectations on the part of everyone for everything
              เพราะความคาดหวังของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆตามกระแสบริโภคนิยม เมื่อความคาดหวังที่ระดับหนึ่งบรรลุความคาดหวังแล้ว จะเกิดความคาดหวังระดับสูงมากขึ้นอันใหม่เข้ามาแทนที่ สิ่งที่เคยเป็นเพียงความปรารถนา (Desire) เมื่อได้รับสิ่งนั้นสมความปรารถนา (Satisfied) สิ่งนั้นจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี (Necessity) ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ความคาดหวังของคนในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้แพร่ระบาดไปในคนทุกระดับชั้นในสังคม ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จแบบ ถูก เร็ว ดี ในวันนี้ต้องเพิ่มคุณค่า (Extra value) เข้าไปถึงจะสามารถแข่งขันได้ ความคาดหวังจึงเป็นอีกหนึ่งความกดดันที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

JAL สายการบินตรงเวลาที่สุดในโลก

       องค์กรด้านสถิติการบินระหว่างประเทศเผยผลสำรวจ ล่าสุดที่ระบุว่า สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) ของญี่ปุ่นครองตำแหน่งสายการบินที่ “ตรงเวลา” มากที่สุดในโลกส่วน “การบินไทย” ไม่มีรายชื่อติดโผด้านความตรงต่อเวลา

       รายงานข่าวซึ่งอ้างผลสำรวจล่าสุดของ “ไฟลต์สแต็ทส์ อิงก์” องค์กรรวบรวมข้อมูลและสถิติด้านการบินระหว่างประเทศชื่อดัง แห่งเมืองพอร์ทแลนด์ของสหรัฐฯ ระบุว่า สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส หรือ “เจเอแอล” สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองชินางาวะในกรุงโตเกียว ถือเป็นสายการบินที่มีสถิติด้านการตรงต่อเวลาของเที่ยวบินสูงที่สุดในโลกโดยเที่ยวบินที่ให้บริการได้ตรงตามเวลาของเจแปน แอร์ไลน์สมีจำนวนกว่า 90.35 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินทั้งหมดของสายการบินแห่งนี้ถือเป็นสายการบินพาณิชย์ที่ “ตรงเวลาที่สุด” ในอุตสาหกรรมการบินโลก


       ส่วนสายการบินที่มีสถิติด้านการตรงต่อเวลาที่สุดติด “ท็อปเท็น” ของโลก รองลงมาจากเจแปน แอร์ไลน์ส ประกอบด้วย สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส ของญี่ปุ่น (มีเที่ยวบินให้บริการตรงเวลา 88.48% ของเที่ยวบินทั้งหมด), เอสเอเอส สแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์สของสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ (87.91%), สายการบินเคแอลเอ็มจากเนเธอร์แลนด์ (87.85%), แอร์ นิวซีแลนด์ (87.76%), สายการบินกัล์ฟ แอร์ของประเทศบาห์เรน (87.71%), สายการบินเดลตา แอร์ ไลน์สของสหรัฐฯ (85.95%), ฟินน์แอร์จากฟินแลนด์ (85.90%), สายการบินอาลิตาเลียจากอิตาลี (83.76%) และอันดับที่ 10 คือ สายการบินลุฟท์ฮันซาแห่งเยอรมนี ที่เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป (83.51% )

       ส่วนสายการบินที่มีสถิติการตรงต่อเวลาของเที่ยวบินมากที่สุดในอันดับที่ 11-20 ของโลก ตามข้อมูลของ “ไฟลต์สแต็ทส์ อิงก์” ประกอบด้วย แควนตัสของออสเตรเลีย (มีเที่ยวบินให้บริการตรงเวลาคิดเป็น 82.66% ของเที่ยวบินทั้งหมด), แอร์ เบอร์ลินของเยอรมนี (81.80%), สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส(80.87%), แอร์ฟรานซ์ (80.76%), สวิสแอร์ (80.24%), มาเลเซีย แอร์ไลน์ส (80.19%), สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์สของสหรัฐฯ (76.94%), สายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ส (76.93%), สายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ของ “เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน” มหาเศรษฐีชื่อก้องโลกชาวอังกฤษ (76.77%) และปิดท้ายด้วยอันดับที่ 20 คือ สายการบินเอเชียนาของเกาหลีใต้ (76.73%)

       อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการบินไทย และสายการบินอื่นๆ ของประเทศไทยไม่มีชื่อติดอันดับด้านการให้บริการที่ตรงต่อเวลาจากผลสำรวจขององค์กร “ไฟลต์สแต็ทส์ อิงก์” ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้แต่อย่างใด

       ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นที่หนึ่งของการมีวินัย และการตรงต่อเวลาอยู่เสมอ และนี่คือสิ่งที่เราทุกคนจะต้องตระหนักมากขึ้นว่า หากเรายังไม่มีความตรงต่อเวลา ภาพลักษณ์ทุกอย่างของเราก็จะส่งผลให้หลายๆส่วนอาจต้องหลุดมือไปอย่างดึงกลับคืนไม่ได้ ไอหมอกคิดว่า ถ้าคนไทยร่วมใจกันตรงต่อเวลา มีวินัยอย่างเต็มหัวใจได้เท่าเสี้ยวหนึ่งของคนญี่ปุ่น ไอหมอกเชื่อว่า อีกไม่นานประเทศไทยอาจติดอันดับต้นๆ เรื่องความน่าอยู่ก็เป็นได้

ที่มา .. ผู้จัดการออนไลน์

การที่จะรุก อย่าลืมตั้งรับ


       สวัสดีอีกครั้งค่ะ เพื่อนๆชาวไอหมอก วันนี้ที่เชียงใหม่อากาศเย็นๆ คงเป็นผลมาจากฝนตกเมื่อวาน ทำให้ไอหมอกได้ทีเริงร่ากันเลยทีเดียวค่ะ ห่างหายไปนานเลยสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ไม่รู้ว่าเพื่อนๆจะคิดถึงไอหมอกกันบ้างมั้ยน๊าาา .. ?? วันนี้เรามาเริ่มต้นกันที่เรื่องของ การเดินหน้าเข้าสู่เป้าหมาย นั่นคือ การรุกเพื่อตีเป้าหมายที่เราวางไว้

       หลายๆคนคงชื่นชอบการที่จะเป็นฝ่ายรุก เนื่องจากมันคือความท้าทาย ยิ่งมีคู่แข่งยิ่งชอบ ยิ่งต้องต่อสู้ยิ่งสนุก เพราะนั่นคือการทดสอบความสามารถของคนเราเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ไหวพริบ ความคิด หรือความรู้ต่างๆ แต่หลายๆคนมักจะลืมไปว่า บางทีการที่เราออกล่า อาจมีบางอย่างที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ฐานที่มั่นของเราอยู่ก็เป็นได้ บางครั้งการที่เราออกรุกอย่างเมามันนั้น อาจทำให้เราเกิดความชะล่าใจ ออกเดินทางออกไปไกลเรื่อยๆ จนลืมไปว่า การรักษาฐานที่มั่นของเราก็สำคัญไม่แพ้กัน บางคนอาจจะออกไปรุกในหนทางข้างหน้าอย่างหรรษา ติดอยู่ในภวังค์ของรสชาติที่หอมหวานที่ได้มา แต่ขณะเดียวกันฐานที่มั่นกำลังถูกโจมตี กลับมาพบเจอแต่ความว่างเปล่า ...  เพื่อนๆคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้หรอกใช่มั้ยคะ


       ในการรุก อย่าลืมตั้งรับ นี่คือประโยคสั้นๆที่ได้ใจความเป็นอย่างมาก เป็นประโยคเดียวที่เตือนสติไอหมอกได้อยู่เสมอ การที่เราคิดที่จะรุก เราอย่าลืมวางแผนที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกันด้วย เพราะสิ่งที่เรามีอยู่ หากเรารักษามันไว้ไม่ได้ สุดท้ายการที่เรารุกไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลยสักนิด โดยธรรมชาติของคนเรามองแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่มองในส่วนที่ควรจะหาทางป้องกันจากทางด้านหลัง หรือด้านข้างที่อาจเข้ามาโจมตี ซึ่งด้วยเหตุผลนี้เป็นสำคัญที่ทำให้หลายๆท่าน ล้มลงอย่างไม่เป็นท่ามานักต่อนักแล้ว

       จริงๆในเรื่องของการรุก และตั้งรับ บรรพบุรุษของไทยเราก็สอนมาแต่เนิ่นๆ จะเห็นได้ภาพยนตร์ต่างๆที่สร้างขึ้นเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อชาติ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย และภาพยนตร์เกี่ยวเนื่องต่างๆ จะสอนให้เหล่าทหารกล้าทุกท่าน มีเทคนิคในการรุกรา ฟันแทงด้วยดาบ และตั้งรับด้วยโล่จากแขนอีกข้างหนึ่งอย่างคล่องแคล่ว พริ้วไหวอย่างแข่งแกร่งสอดคล้องกันไปด้วย ซึ่งถ้าพูดกันให้เห็นภาพโดยง่ายๆ ก็เห็นได้จากหากเราคิดที่จะฟันแทง รบรา รุกไปอย่างสุดตัว โดยที่ไม่มีการรับมือ หรือปกป้องผู้ที่จะมาทำร้ายตัวเองไปพร้อมๆกัน เมื่อนั้นแหละที่จังหวะการพลาดท่าจะเข้ามาเยือน ท่านอาจจะต้องกับอาวุธของศัตรู หรือคู่แข่งจากเพียงแค่เสี้ยววินาที แต่สิ่งเหล่านั้นอาจทำให้ท่านอ่อนล้าลง หมดแรง เจ็บปวด และสู้ไม่ไหวในที่สุดก็เป็นได้


       ไอหมอกคิดว่า บางทีที่เราจะทำอะไรสักอย่างเราต้องคิดถึงจุดที่เราจะสามารถกลับมานั่งพักยามเราเหน็ดเหนื่อยจากการรุก และการต่อสู้ นึกถึงสถานที่ที่เราจะต้องกลับมาเต็มพลังได้ ฐานที่มั่นของเราไม่ว่าจะเป็นบ้าน เป็นธุรกิจ หรือสิ่งอื่นใกก็ตาม เราจะต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้ใครมาทำร้ายเราได้ และหาวิธีการป้องกันและรักษาฐานของเราให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถลุกขึ้นกลับมาสู้อีกครั้งได้อย่างเต็มภาคภูมิและมั่นคง จากความแข่งแกร่งของฐานเราได้เป็นอย่างดีสืบต่อไป