วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

บริหารงานแบบ โฮ เรน โซ

       ช่วงนี้ดูไอหมอกจะสนใจหลักการบริหารงานเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่าเนื่องมาจากสาเหตุใด แต่อาจเป็นเพราะรักที่จะเรียนรู้เรื่องการบริหารงานก็เป็นไปได้นะคะ วันนี้มีแนวทางการบริหารที่น่าสนใจมาฝากเพื่อนๆกัน กับหลักการบริหารงานสไตล์คนญี่ปุ่น ผู้ซึ่งทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก!! กับหลักการบริหารแบบ โฮ เรน โซ (Hou Ren Sou) เอ๊ะ .. แล้วเจ้าโฮ เรน โซ ที่ว่านี่มันคืออะไร อยากรู้จริงค่ะ

 

       คำว่า โฮ เรน โซ (Hou Ren Sou) เป็นคำเรียกสั้นๆ ที่เราใช้เรียกกันในเชิงของการบริหาร ซึ่งคำว่า Hou มาจากคำว่า Houkoku หรือ Report , คำว่า Ren มาจากคำว่า Renraku หรือ Frequent Communication และคำสุดท้ายคำว่า Sou มาจาก Soudan หรือ Discussion เรามาขยายความหมายของทั้ง 3 คำกันค่ะ

       Hou = Houkoku หรือ Report หมายถึง การรายงาน ซึ่งการรายงานผลการทำงานไม่ว่าจะในสถานะของเนื้องานแบบไหน เราจำเป็นต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานให้หัวหน้างานรับทราบทุกครั้ง ถึงความสำเร็จของการทำงาน หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องรายงานผลแบบตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ในการทำงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

       Ren = Renraku หรือ Frequent Communication  หมายถึง การประสานงาน เป็นส่วนสำคัญของการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากความร่วมมือซึ่งกันและกันในแต่ละส่วนงานเป็นผลให้เกิดความราบรื่นของทุกส่วนงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีของแต่ละฝ่ายอีกด้วย

       Sou= Soudan หรือ Discussion หรือ การปรึกษา แนวคิด การวางแผน การตัดสินใจทุกอย่างล้วนรอบคอบและประสบผลสำเร็จหากร่วมกันคิด ช่วยกันทำ นั่นคือที่มาของคำว่า "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" ให้ไอเดียของแต่ละคน สามารถเป็นตัวจุดประเด็นต่อยอดการทำงานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

       ซึ่งหลักการทำงานทั้ง 3 อย่างนี้เป็นหลักการทำงานที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลให้การทำงานของชาวญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นมืออาชีพในการทำงาน ซึ่งคนไทยเรายังขาดส่วนนี้ไปมาก ไอหมอกเชื่อว่า การทำงานทุกอย่างจะสำเร็จไปได้อย่างราบรื่น ต้องมาจากความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมสมองกันอย่างไม่หยุดยั้ง หากคนไทยเราช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้านความคิด คนไทยเราต้องสามารถแซงหน้าประเทศอื่นๆได้อย่างรวดเร็วก็เป็นได้

ที่มา .. ขงจื้อ และ Softbankthai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น